สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 นี้ มีวันหยุดยาว 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-17 เม.ย.2566 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่คนไทยมีความสุข  ได้เดินทางไปรดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่  แต่พวกมิจฉาชีพกลับอาศัยโอกาสนี้ก่อเหตุหลอกลวงเอาเงินจากพี่น้องประชาชนคนไทย


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ร่วมกันนำเสนอสถิติการรับแจ้งความออนไลน์รอบสัปดาห์ ภัยที่เกิดขึ้นใหม่และภัยที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์ 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีภูมิป้องกันภัยออนไลน์   ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 โดยมีรายละเอียด ดังนี้


ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-8 เม.ย.2566)  รวมทั้งสัปดาห์มีผู้แจ้งความ 5,269 เคส/312,510,656.69 บาท

 สถิติการรับแจ้งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,224 เคส/ ความเสียหายลดลง 307,208,129.81 บาท โดยสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ  5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1)  คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ  2,600 เคส/34,066,584.28 บาท 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 719 เคส/61,185,905.30 บาท 3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 539 เคส/22,793,579.46 บาท 4) คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์   286  เคส/72,795,550.02บาท และ 5) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) 276 เคส/47,917,957.49 บาท

ภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ มีจำนวน 3 เรื่อง ดังนี้


1. “สั่งซื้อของคลายร้อน  ไม่ได้ของ แถมหัวร้อน” คดีนี้มิจฉาชีพทำการปลอมเพจ Facebook ให้คล้ายของจริง นำภาพ ซึ่งคัดลอกมาจากเพจอื่น มาโพสต์เพื่อหลอกขายเสื้อสงกรานต์ ปืนฉีดน้ำ และสินค้าอื่นๆ ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมิจฉาชีพได้หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินก่อน โดยไม่ส่งสินค้าให้


​2. “การลงทุนมีความเสี่ยง ควรปรึกษา 1441” คดีนี้มิจฉาชีพทำการปลอมเพจ Facebook โดยใช้รูปโปรไฟล์บุคคล ที่มี ชื่อเสียง อาชีพและฐานะที่น่าเชื่อถือ  แล้วชักชวนผู้เสียหายลงทุนเทรดหุ้น ในแอพพลิชั่น โดยนำผลตอบแทนจำนวนมากมาเป็นเหยื่อล่อ  เมื่อผู้เสียหายลงทุนครั้งแรกๆ ผู้เสียหายจะได้รับค่าตอบแทน แต่ผู้ต้องสงสัยได้เก็บทุนไว้อ้างว่าจะเก็บไว้เพื่อลงทุนต่อให้ สุดท้ายได้หลอกให้ผู้เสียหายลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีเสียเงินไปจำนวนมาก


​3. “อยากกู้เงินง่ายๆ แต่ได้เงื่อนไขยากๆ”คดีนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมิจฉาชีพสร้างเว็บไซต์ปลอม แอบอ้างเป็นบริษัทคันทรี่กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (CGH) หลอกให้กู้เงินออนไลน์ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับสัปดาห์นี้คนร้ายได้แอบอ้างเป็น บริษัท ฉัตรชัย ลิสซิ่ง จำกัด เพื่อหลอกให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำอีกเช่นกัน โดยจะส่งลิงก์ปลอมเพื่อให้เห็นว่ายอดเงินกู้ได้รับการอนุมัติแล้ว จากนั้นจะอ้างว่าผู้เสียหายเป็นลูกค้าใหม่  ต้องโอนเงินค้ำประกันก่อน  เพื่อแสดงว่ามีความสามารถผ่อนชำระได้ และในการโอนจะตั้งเงื่อนไขเข้มงวดเพื่อหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินใหม่ทุกๆ ครั้งที่ทำผิดพลาด กรณีนี้อ้างว่าไม่ใส่เศษสตางค์ในการโอน และโทษว่าเป็นความผิดของผู้เสียหายที่กรอกข้อมูลผิด สุดท้ายข่มขู่และหลอกให้โอนเพิ่ม


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน  จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เดินทางกลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ที่บ้าน  ช่วยกันแจ้งเตือนว่า    กรณีสั่งซื้อของออนไลน์ต้องตรวจสอบเพจร้านค้าให้ละเอียดก่อนซื้อขายทุกครั้ง  ไม่หลงเชื่อลงทุนกับคนแปลกหน้า และหากต้องการกู้เงินให้ติดต่อขอกู้จากแหล่งที่น่าเชื่อถือเท่านั้น

–——————————————––——————————————––—

คดีปลอมเพจ Facebook หลอกขายสินค้า

กลโกง

1. มิจฉาชีพทำการเปิดเพจขายเสื้อสงกรานต์ ปืนฉีดน้ำ หรือสินค้าอื่นๆ ก่อนช่วงเทศกาล

2. มิจฉาชีพได้ทำการนำภาพ ซึ่งคัดลอกมาจากเพจอื่น มาโพสต์เพื่อหลอกขาย ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ

3. เมื่อมีผู้เสียหายหลงเชื่อเข้ามาในเพจ จึงทำการสนทนาก่อนตกลงซื้อสินค้า ซึ่งทางมิจฉาชีพได้หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน    ก่อนทำการตกลงวันจัดส่งสินค้า

4. เมื่อถึงวันจัดส่งสินค้า ผู้เสียหายไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงไว้ จึงได้เข้าไปถามที่เพจของมิจฉาชีพ แต่ถูกบล็อกการติดต่อ    ไม่นาน หลังจากที่ผู้เสียหายได้ถามไป

จุดสังเกต

1. มิจฉาชีพนำอีเมลผู้อื่นมาใช้ ทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา

2. มิจฉาชีพใส่จำนวนผู้ติดตามปลอมเป็นลิงก์เว็บ Spotify หรือใส่ใน “เกี่ยวกับ”

3. ลิงก์นี้เป็นเว็บของเพจร้านที่ถูกขโมยรายละเอียดที่อยู่และเนื้อหา

4. เพจมิจฉาชีพส่วนใหญ่เปิดตลอดเวลา ขณะที่เพจจริงมีช่วงเวลาเปิด-ปิด

5. มิจฉาชีพบางครั้งจะกำหนดหมวดหมู่เพจปลอมที่ไม่ตรงกับเนื้อหาเพจ

6. เพจมิจฉาชีพมักจะมีคนต่างชาติเป็นแอดมินร่วมกับคนไทย หรือไม่มีคนไทยอยู่

7. เพจมิจฉาชีพมักจะถูกสร้างขึ้นมาไม่นาน

วิธีป้องกัน

1. โปรดทำการตรวจสอบเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับเพจร้านค้าให้ละเอียดก่อนทำการสนทนาซื้อขายทุกครั้ง

2. เพจที่ขายสินค้าจริง จะใส่หมวดหมู่ร้านค้าอย่างชัดเจน และเปิดเผยที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์หรือช่องทางติดต่ออื่นให้ลูกค้าทราบ

3. ควรระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ตลอดเวลา โดยเฉพาะการซื้อในปริมาณมาก และมีการให้โอนเงินก่อนเพราะยังไม่สามารถจับต้องสินค้านั้นได้

4. เพจที่ทำการขายสินค้าจริงจะมีการแจ้งเตือนให้ระมัดระวังเพจปลอม 5. บางเพจที่ขายสินค้าจริงมีช่วงเวลาที่แน่ชัดที่ลูกค้าสามารถติดต่อสนทนาได้

–——————————————––——————————————––—

คดีหลอกเทรดหุ้นปลอม

กลโกง

1. ผู้ต้องสงสัยทักผู้เสียหายมาทางFacebook

เพื่อทำความรู้จักสร้างความสนิท โดยใช้รูปโปรไฟล์/อาชีพที่ดูมีฐานะและน่าเชื่อถือ

2. ผู้ต้องสงสัยชักชวนผู้เสียหายลงทุนเทรดหุ้น ในแอพพลิชั่น โดยนำผลตอบแทนจำนวนมากมาเป็นเหยื่อล่อ

3. โดยการลงทุนครั้งแรก ผู้เสียหายได้รับค่าตอบแทน พร้อมทุนกลับคืนแต่ผู้ต้องสงสัยได้เก็บทุนไว้อ้างว่าจะเก็บไว้เพื่อลงทุนต่อให้

จุดสังเกต

1. สร้างโปรไฟล์ใน Facebook ให้ดูมีฐานะและน่าเชื่อถือ หรือใช้รูปโปรไฟล์ของคนหน้าตาดีมีชื่อเสียง

2. ผู้ต้องสงสัยพยายามพูดคุยบ่อยเพื่อสร้างความสนิทสนมให้ผู้เสียหายไว้ใจ

3. ผู้ต้องสงสัยแจ้งว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นจำนวนมาก

วิธีป้องกัน

1.  มีสติ ไม่โลภ ไม่โอนเงินให้ใครง่ายๆโดยที่ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง

2. ควรศึกษาและไตร่ตรองให้มั่นใจก่อนการลงทุนทุกครั้ง พึงคิดไว้เสมอว่าการลงทุนง่ายได้ผลตอบแทนสูง ไม่มีอยู่จริง

3. ก่อนโอนเงินให้ใคร หากเป็นชื่อบัญชีที่ไม่เคยโอนมาก่อน ควรเช็คชื่อบัญชีทุกครั้งว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่

–——————————————––——————————————––—

คดีแอบอ้างบริษัทฉัตรชัย ลิสซิ่ง จำกัด หลอกให้กู้เงิน

กลโกง

1. คนร้ายสร้างเว็บไซต์บริษัทคันทรี่กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (CGH) ปลอม สำหรับหลอกกู้เงินออนไลน์ดอกเบี้ยต่ำ

2. เมื่อเหยื่อกดเข้าไปดูและกดเพิ่มเพื่อนคนร้ายคนที่ 1  ที่แปะมากับเว็บไซต์ปลอม คนร้ายคนที่ 1 ให้เหยื่อกรอกข้อมูลส่วนตัว  เสร็จแล้วส่งลิงก์ไลน์ให้คุยกับคนร้ายคนที่ 2

3. คนร้ายคนที่ 2 ส่งสัญญาปลอมให้เหยื่อและหลอกให้เปิดเผยเลขบัญชีและโอนชำระเงิน เป็นค่างวด   ค่าเบี้ยประกัน ค่าธรรมเนียม พร้อมทั้งให้บันทึกหน้าจอการโอนเงินส่ง และได้ตั้งเงื่อนไขเข้มงวดไว้หลายข้อ

4. คนร้ายหลอกให้โอนเงินเพิ่ม อ้างว่าต้องโอนผ่านบัญชีที่ลงทะเบียนไว้ โอนเงินเกินเวลาที่กำหนด หรือทำธุรกรรมผิดพลาด  หลังจากนั้นจึงอ้างว่าใส่เลขบัตรประชาชนผิดเป็นเหตุให้เลขบัญชีถูกอายัด  

5. คนร้ายคนที่ 2 ส่งลิงก์ไลน์ให้ติดต่อถอนอายัดกับคนร้ายคนที่ 3 ที่อ้างเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย

6. คนร้ายคนที่ 3 นี้ข่มขู่เหยื่อด้วยกฎหมายและให้เหยื่อส่งรูปบัตรประชาชนให้ สุดท้ายหลอกให้เหยื่อโอนเพิ่มอีก เมื่อรู้ตัวว่าโดนหลอกก็สูญเสียเงินไปจำนวนมากแล้ว

จุดสังเกต

  1. จุดสังเกตุของปลอมกับของจริง

ของปลอม

   1)  ทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้กู้เงิน

2)  มีเมนูให้กดเพิ่มเพื่อนไลน์  และกดหมายเลขโทรศัพท์

   3) แอบอ้างใช้รูปบุคคลที่หน้าตาดีมีชื่อเสียงเป็นรูปโปรไฟล์

ของจริง

   1) ชื่อเว็บไซต์ที่ถูกต้อง คือ cgholdings.co.th และมีหน้าจอเตือนให้ระวังช่องทางการติดต่อปลอม

   2) ทำธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน

   3) ไม่มีช่องทางการติดต่อทางไลน์ มีแต่เมนูติดต่อทางอีเมล และหมายเลขโทรศัพท์

2. คนร้ายจะอ้างเรื่องต่างๆ  หลอกให้โอนเงิน จากนั้นจะบอกว่าใส่เลขบัตรประชาชนผิดเป็นเหตุให้บัญชีถูกอายัด 3.หลอกให้ถอนอายัดกับธนาคารแห่งประเทศไทย สุดท้ายกลับถูกหลอกให้โอนเงินเพิ่ม

วิธีป้องกัน

1. ศึกษากลโกงของมิจฉาชีพจากแหล่งความรู้ต่างๆ  เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้าย

2. ควรกู้เงินจากแหล่งสถาบันที่น่าเชื่อถือ มีความมั่นคง มีกฎหมายคุ้มครองอย่างชัดเจน

3. การกู้เงิน  ที่ต้องมีการโอนเงินให้ก่อน  ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นกลโกงของมิจฉาชีพ 4. พึงสังเกตุหน้าหลักในเว็บไซต์ปลอม คนร้ายจะสร้างให้คล้ายกับของจริง